ไวรัสตับอักเสบซี คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้ตับอักเสบ มักเป็นเรื้อรังและทำให้มีโอกาสเป็นโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับมากขึ้น ไวรัสชนิดนี้ติดต่อได้ทางเลือดและการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนมากมักจะไม่มีอาการ หรือหากมีอาการจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดตามข้อ อุจจาระสีซีด ตัวเหลืองตาเหลือง
การรับเชื้อ
- จากแม่สู่ลูกในครรภ์
- การใช้เข็มสักหรือเจาะร่างกายและการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน โดยเฉพาะทางทวารหนัก
การรักษา
บางส่วนจะเป็นเฉียบพลันแล้วหายเอง แต่ส่วนใหญ่ (เกิน 70%) เป็นเรื้อรัง จะต้องรักษาโดยการรับประทานยาติดต่อกันประมาณ 3 เดือน
การป้องกัน
- ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักควรใช้สารหล่อลื่นร่วมด้วย
- งดเว้นการใช้เข็มร่วมกัน ทั้งเข็มฉีดยา เข็มสัก เข็มเจาะ หรือใบมีดโกน
- ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีเป็นประจำ ทุก 6-12 เดือน โดยเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก รวมถึงผู้ใช้สารเสพติด
การตรวจคัดกรอง
ตรวจ anti-HCV คือการตรวจภูมิต้านทาน กรณีเป็น positive หมายความว่ามีการติดเชื้ออยู่ในร่างกาย หรือเคยเป็นแล้วและหายแล้ว
- หาก anti-HCV มีผลเป็น positive ให้ส่งตรวจ HCV RNA หรือ GeneXpert HCV viral load
- HCV RNA หรือ GeneXpert HCV viral load positive แปลว่า มีเชื้อให้ส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษา
- HCV RNA หรือ GeneXpert HCV viral load negative แปลว่า ไม่มีเชื้อแสดงว่า เคยเป็นแต่หายแล้ว
- หาก anti-HCV มีผลเป็น Negative แปลว่า ไม่มีเชื้อและไม่เคยเป็นมาก่อน
การฉีดวัคซีน
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซีได้