ไวรัสตับอักเสบบี คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้ตับอักเสบ หากเป็นเรื้อรังจะรักษายาก และทำให้มีโอกาสเป็นโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับมากขึ้น ไวรัสชนิดนี้ติดต่อได้ทั้งทางเลือดและการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือหากมีอาการจะพบตัวเหลืองตาเหลือง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
การรับเชื้อ
- จากแม่สู่ลูกในครรภ์
- การสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ เช่น เลือด น้ำลาย หรือน้ำอสุจิ
- การโดนเข็มตำ การใช้เข็มสักหรือเจาะร่างกายและการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
การรักษา
บางส่วนจะเป็นเฉียบพลันแล้วหายเอง ส่วนผู้ที่เป็นเรื้อรังจะต้องรักษาโดยการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
การป้องกัน
- ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักควรใช้สารหล่อลื่นร่วมด้วย
- งดเว้นการใช้เข็มร่วมกัน ทั้งเข็มฉีดยา เข็มสัก เข็มเจาะ หรือใบมีดโกน
- ฉีดวัคซีนป้องกันหากยังไม่มีภูมิ
การตรวจคัดกรอง
หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ให้ตรวจคัดกรองด้วย HBsAg ทุุก 12 เดือน หากต้องการฉีดวัคซีนให้ตรวจทั้ง HBsAg และ anti-HBs ก่อนฉีดวัคซีน
- HBsAg คือการตรวจสารก่อภูมิต้านทาน กรณี positive หมายความว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกาย ต้องไปพบแพทย์ เมื่อหายจากโรคแล้ว ร่างกายจะสร้างanti-HBs ขึ้นมาเอง
- Anti-HBs คือการตรวจสารภูมิต้านทาน เป็น positive ในกรณีที่เคยติดเชื้อแล้วหายแล้ว และกรณีที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว หมายความว่ามีภูมิต้านทานแล้ว ไม่ต้องฉีดวัคซีนในผู้ที่ anti-HBs positive
- Anti-HBc มีการตรวจในบางที่ คือการตรวจสารภูมิต้านทานอีกชนิดหนึ่งที่บ่งบอกร่องรอยการติดเชื้อ มักตรวจคู่กับ HBsAg และ anti-HBs จึงให้แปลผลตามผลของ HBsAg และ anti-HBs
การฉีดวัคซีน
- ควรตรวจทั้ง HBsAg และ anti-HBs ก่อนฉีดวัคซีน
- วัคซีนฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 1, 6
- หากไม่มาตามนัด สามารถฉีดเข็มต่อไป ต่อเนื่องได้เลย ไม่มีกำหนดเวลา ไม่ต้องเริ่มใหม่ โดยเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ควรนัดห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ควรนัดห่างกันอย่างน้อย 8 สัปดาห์ และโดยเข็มที่ 1 และเข็มที่ 3 ควรนัดห่างกันอย่างน้อย 16 สัปดาห์
- ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ก็ฉีดได้
- เป็นหวัดไม่สบายเล็กน้อย ฉีดได้
- เข็มที่ 1 2 และ 3 เป็นคนละยี่ห้อกันก็ได้
ภูมิจากวัคซีนอยู่ได้อย่างน้อย 30 ปี