มะเร็งปากมดลูก คือ เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากการรับเชื้อ HPV ร่วมด้วย เช่น อายุ ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป การสูบบุหรี่ การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน การมีบุตรจำนวนมาก ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือไม่เคยตรวจภายในเพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion)
โดยทั่วไป ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อมะเร็งลุกลามแล้วอาจมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เช่น หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หลังหมดประจำเดือน มีตกขาว ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด ซึ่งเกิดจากมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง
การรับเชื้อ
การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
วิธีการรักษา
แบ่งได้ 2 ระยะดังนี้
- ระยะก่อนลุกลาม การตรวจภายใน การทำแพปสเมียร์ และการตรวจด้วยกล้องขยาย (Colposcope) ทุก 4 – 6 เดือน รอยโรคขั้นต่ำบางชนิดสามารถหายไปได้เองภายใน 1 – 2 ปี การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าการจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น หรือ การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด
- ระยะลุกลาม การเลือกวิธีรักษาขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและระยะของมะเร็ง เช่น ระยะที่ 1 และ 2 บางรายรักษาโดยการตัดมดลูกออกแบบกว้างร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองเชิงกรานออก ในระยะที่ 2 – 4 รักษาโดยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
วิธีป้องกัน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การสูบบุหรี่ ฯลฯ
- เข้ารับการตรวจคัดกรองความผิดปกติของปากมดลูก และการตรวจหาเชื้อ HPV ตามข้อบ่งชี้ของแต่ละบุคคล
- ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
การตรวจคัดกรอง
การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านและถ่างช่องคลอด จากนั้นจะทำการป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้
การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV
ชนิดของวัคซีน | การป้องกันหูด | การป้องกันมะเร็ง | ราคา |
วัคซีน 2 สายพันธุ์ (16, 18) | ไม่สามารถป้องกัน ได้ | ป้องกันได้ 70% (สายพันธุ์ 16, 18) | N/A |
วัคซีน 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16,18) | ป้องกันได้ 90% (สายพันธุ์ 6, 11) | ป้องกันได้ 70% (สายพันธุ์ 16, 18) | 3,175 บาท ต่อเข็ม |
วัคซีน 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) | ป้องกันได้ 90% (สายพันธุ์ 6, 11) | ป้องกันได้ 80% (สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) | 7,200 บาท ต่อเข็ม |
อายุที่เหมาะกับการฉีดวัคซีน
- อายุ 9–26 ปี แนะนำให้ฉีดทุกคนทั้งผู้หญิง ผู้ชาย รวมทั้งคนข้ามเพศ
- อายุ 27–45 ปี แนะนำให้พิจารณาเป็นรายกรณี
- อายุน้อยกว่า 9 ปี หรือ มากกว่า 45 ปี ไม่แนะนำให้ฉีด
วัคซีนฉีดกี่เข็ม
- อายุน้อยกว่า 15 ปี ฉีดวัคซีน 2 เข็ม โดยฉีดเดือนที่ 0 และ 6-12
- อายุมากกว่า 15 ปี ฉีดวัคซีน 3 เข็ม โดยฉีดเดือนที่ 0, 1-2 และ 6
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ว่าอายุเท่าไร ฉีดวัคซีน 3 เข็ม เดือนที่ 0, 1-2 และ 6