“ฉันอาจไม่ใช่ทั้งชายและหญิง แต่ก็มากเกินพอสำหรับคนอย่างแก” — ประโยคนี้ถูกกล่าวโดย ‘ราเซียไบ’ ตัวละครหญิงข้ามเพศ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Gangubai Kathiawadi (คังคุไบ กาเฐียวาดี) ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ’ ภาพยนตร์อินเดียที่มาแรงและเป็นกระแสจนขึ้นอันดับหนึ่งใน Netflix ประเทศไทย
หญิงข้ามเพศในอินเดียนั้น จะถูกเรียกว่า ‘ฮิจรา ’ (Hijra) โดยคำนี้เป็นภาษาอูรดู ภาษาถิ่นจากทางอินเดียเหนือ มักใช้เรียกบุคคลที่มีเพศกำเนิดชาย แต่มีจิตใจและการแต่งกายเป็นหญิง นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงชุมชนฮิจรา ในวรรณคดีโบราณอย่าง ‘กามสูตร’ เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ที่เขียนขึ้นในช่วงระหว่าง 400 ปีก่อนคริสตศักราช จนถึงศตวรรษที่ 2 นั่นหมายความว่าฮิจรา อยู่คู่กับวัฒนธรรมอินเดียมาอย่างยาวนาน
แต่เมื่อมีการเข้ามาของทางการอังกฤษในช่วงยุคล่าอาณานิคม ก็มีการเผยแพร่คำสอนทางศาสนาเพื่อลบการมีอยู่ของชุมชนฮิจรา และมีกฎหมายที่ทำให้พวกเขากลายเป็นอาชญากรไปโดยปริยาย จึงทำให้ฮิจรา ในอินเดียนั้นกลายเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่าจัณฑาล ถูกขับไล่ออกจากครอบครัว และไม่ได้รับการศึกษา แม้ในเวลาต่อมากฎหมายเหล่านี้จะถูกยกเลิกหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช แต่ความเชื่อที่สั่งสมกันมานั้นยังคงอยู่
ฮิจรา จึงต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มและคอยช่วยเหลือกันเองเพื่อความอยู่รอดในสังคม มีการสอนความรู้ต่างๆ ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งการเต้นรำ ร้องเพลง และการทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ โดยส่วนใหญ่เป็นการเต้นรำแลกเงิน หรือบางคนก็ไปให้บริการทางเพศ นอกจากนี้ ในบางสังคมก็มีความเชื่อว่าฮิจรา มีอำนาจทางศาสนาและการแสวงหาพร โดยจะมีการเชิญไปอวยพรทารกแรกเกิด หรือเชื่อว่าถ้าฮิจรา สาปแช่งใครแล้วบุคคลนั้นจะไม่เจริญ
แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยังคงตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดและการเลือกปฏิบัติอยู่ดี ความรุนแรง ความเกลียดชัง และอาชญากรรมทางเพศ ต่อชุมชนฮิจรา นั้นแทบจะถือเป็นเรื่องปกติในสังคม โดยทางรัฐบาลอินเดียก็ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองบุคคลข้ามเพศ โดยมีโทษจำคุกและบทลงโทษอื่นๆ สำหรับผู้ที่กระทำผิด
ปัจจุบัน บุคคลข้ามเพศในอินเดียสามารถเปลี่ยนเพศ และคำนำหน้าชื่อในเอกสารราชการหลังการผ่าตัดข้ามเพศได้ ภายใต้กฎหมายที่ผ่านการลงมติในปี 2019 นอกจากนี้ หลายรัฐยังมีการดูแลชุมชนฮิจรา ผ่านโครงการที่อยู่อาศัย การศึกษา และเสนอสวัสดิการ แผนบำเหน็จบำนาญ การดำเนินการผ่าตัดข้ามเพศฟรีในโรงพยาบาลของรัฐ ตลอดจนโครงการอื่นๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือพวกเขาอีกด้วย
นี่จึงนับเป็นก้าวครั้งสำคัญของอินเดียในเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในระดับรัฐนั้น จะค่อยๆ ปรับค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อชุมชนฮิจรา ให้ดีขึ้นได้
อ้างอิงจาก: